เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นฤๅษีแล้วย่อมใฝ่หาความสงบ ฤๅษีวโรดมก็เช่นเดียวกัน แต่เดิมท่านเคยเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองมาก่อน ไปไหนมาไหนก็มีทหารแห่ล้อมเต็มไปหมด ไปสู้รบที่ไหนก็ชนะเพราะมีพระขรรค์วิเศษอันเรืองฤทธิ์ แต่ทุกอย่างก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน เพราะพระขรรค์นั้นเป็นอาวุธที่เยี่ยมยอดก็จริง แต่มันก็ปล่อยพลังงานบางที่ทำให้ผู้ครอบครองเป็นอันตราย วิธีเดียวที่จะกำจัดพิษจากพระขรรค์นี้ได้คือบำเพ็ญตบะ ท้าววโรดมจึงเสด็จออกผนวชเป็นฤๅษี บางครั้งก็ได้อยู่ตามลำพัง แต่บางครั้งก็มีเจ้าชายจากเมืองต่าง ๆ มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หนึ่งในเจ้าชายที่ฤๅษีจำได้ไม่เคยลืมเลยคือเจ้าชายจันทโครพ เมื่อคิดถึงเจ้าชายองค์นี้ทีไร ท่านก็อดจะส่ายหน้าด้วยความระอาใจไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าชายแต่ละรุ่นมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ฤๅษีก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะเจ้าชายเหล่านั้นล้วนแต่โตพอที่จะหาผลหมากรากไม้กินเองแล้ว แต่ว่ามนุษย์ที่ปรากฏตัวอยู่ตอนนี้สิ ทำให้ฤๅษีกลุ้มใจอย่างมาก
เมื่อวโรดมทำภารกิจของฤๅษีเสร็จ ก็เตรียมจะเข้านอน แต่ก็ได้ยินเสียงกวางร้องเสียก่อน มันร้องราวกับเจ็บปวดมากจนท่านทนไม่ไหว จึงต้องออกไปดู
นางกวางทองท้องแก่ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพราะมาเล็มหญ้าอยู่แถวนี้ประจำกำลังจะออกลูก มันดิ้นรน ปัด ๆ ไปมา
ฤๅษีเอื้อมมือไป แผ่เมตตาให้นางกวางออกลูกโดยปลอดภัย แม้จะนึกสงสัยว่าเหตุใดกวางตัวนี้จึงหนีมาออกลูกที่นี่ แทนที่จะออกลูกกลางเผ่าพันธุ์ของตัวเอง แต่ตอนนี้ฤๅษีก็ไม่มีเวลาและสมาธิที่จะเปิดทิพยเนตรดูเหตุการณ์เพราะต้องใช้จิตอวยพรให้ลูกกวางเกิดมาได้โดยปลอดภัย หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่มากว่าหากได้ทิพยญาณแล้ว จะรู้ทุกอย่างตลอดเวลาซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิด ทิพยญาณ ไม่ว่าจะเป็นทิพยจักษุหรือทิพยโสต ก็เหมือนตาและหูปกตินั่นแหละที่ต้องเปิดถึงจะมองเห็น มิอย่างนั้นพิเภกคงบอกพระรามไปแล้วว่าสีดาเป็นธิดาของทศกัณฐ์ แต่เพราะพิเภกไม่เคยสนใจที่จะติดตามดูดวงสีดา พิเภกเองจึงไม่ได้ทราบเรื่องนี้เหมือนกัน
ไม่นานนางกวางก็ออกลกออกมา เมื่อฤๅษีเห็นลูกของนางกวางก็รู้ทันทีว่าเหตุใดนางกวางถึงไม่ออกลูกในฝูงของตัวเอง พอลูกของนางกวางนั้นไม่ใช่กวาง นอกจากตาที่งดงามดังเนื้อทราย และเขากิ่งเล็ก ๆ ที่งอกออกมาตรงศีรษะ ดูอย่างไรสิ่งที่นั่งกวางให้กำเนิดออกมาก็เป็นมนุษย์ชัด ๆ แถมเป็นมนุษย์ผู้หญิงที่ร้องไห้เสียงดังเสียด้วย
นางกวางเอาหัวดุนลูกตัวเอง มันคงสับสน ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสิ่งมีชีวิตที่เอาแต่ร้องไห้ชนิดนี้ ยังนับว่ามันฉลาดอยู่บ้างที่มาออกลูกที่นี่ หากมันออกลูกกลางฝูงของตัวเอง โอกาสที่เด็กคนนี้จะรอดแทบไม่มีอยู่เลย
นางกวางช้อนตามองฤๅษีด้วยสายตาอ้อนวอน ฤๅษีเข้าใจกระแสจิตของนางทันที ท่านอุ้มเด็กคนนั้นขึ้นมา นางกวางร้องทีหนึ่งราวกับตัดอาลัยไม่ได้ ยังเดินวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ
"เจ้าไม่ต้องกังวล" วโรดมพูดอย่างมีเมตตา "ข้าจะเลี้ยงลูกของเจ้า ลูกของเราเอง"
นางกวางร้องเป็นเชิงรับคำ ก่อนที่มันจะวิ่งเข้าป่าไป
วโรดมมองเด็กทาริกาในอ้อมแขน เธอแผดเสียงร้องลั่น
"จะทำเยี่ยงไรดีล่ะ" ฤๅษีรำพึงกับตัวเอง แม้ว่าสมัยเขาครองเมืองจะมีโอรสธิดามากมาย แต่เจ้าชายเจ้าหญิงเหล่านั้นก็ล้วนแต่มีพี่เลี้ยงนางนมคอยประคบประหงมดูแล แต่เด็กคนนี้เกิดมาในป่าเปลี่ยว ในที่สุดฤๅษีก็ตั้งสัจจาธิษฐานว่า
"แม้ว่ากุมารีคนนี้จะมีบุญที่จะมีชีวิตอยู่ ขอให้มีกษีราไหลออกจากนิ้วข้าด้วยเถิด"
สิ้นคำอธิษฐาน น้ำนมก็ไหลออกมาจากนิ้วโป้ง อุสาดูดนมอย่างหิวกระหาย
วโรดมมองอย่างเอ็นดู การเลี้ยงลูกด้วยมือตนเองทำให้รู้สึกดีอย่างนี้นี่เอง ตอนนี้เขาคงต้องสละเวลาบำเพ็ญพรตเพื่อมาดูแลเลือดในอกคนนี้สักหน่อย
ฤๅษีวโรดมเลี้ยงอุสาอย่างดี ทั้งหาผลไม้ให้กิน เอาใบไม้มาเย็บเป็นชุดให้ สอนให้รู้จักสัตว์และพืชต่าง ๆจนเวลาผ่านไปแปดปี ชีวิตของทั้งคู่ดำเนินกันไปอย่างสงบ ไม่มีสัตว์ร้ายอะไรมากล้ำกรายเพราะบารมีของฤๅษี อุสาเองก็เริ่มซุกซนและเริ่มออกสำรวจป่า
"เจ้าอย่าไปไกลนักล่ะ อุสา" ฤๅษีสั่ง "อยู่ในเขตอาศรมนี่ก็พอ"
"ค่ะ เจ้าตา" อุสาตอบ แม้ว่าตามสายเลือดแล้วอุสาจะเป็นลูก แต่ฤๅษีก็รู้สึกแปลก ๆ ที่จะให้อุสาเรียกว่าพ่อ เขาจึงให้เธอเรียกว่าเจ้าตาแทน
อุสาเดินสำรวจไปทั่ว เธอเป็นมิตรกับสัตว์กินหญ้าทุกตัวโดยเฉพาะพวกเก้งกวางที่จะชอบเธอเป็นพิเศษ พวกมันชอบมาคลอเคลียเธอ โดยเฉพาะนางกวางตัวหนึ่งที่เธอรู้สึกผูกพันกับมันเป็นพิเศษ
อยู่มาวันหนึ่งอุสาก็เริ่มตั้งคำถามที่วโรดมอึดอัดที่จะตอบ
"เจ้าตา ข้ามีเรื่องสงสัย"
"เจ้าสงสัยเรื่องอะไรล่ะ" ฤๅษีถาม กำลังกินผลไม้ที่หามาอย่างเอร็ดอร่อย เริ่มสังหรณ์ใจไม่ดี
"ข้าสงสัยว่าทำไมพวกกวางที่มีเขาเหมือนข้า" อุสาชี้ที่เขาของตัวเอง "จึงมีอะไรที่หว่างขาไม่เหมือนข้าเล่าเจ้าคะ"
ฤๅษีสำลักผลไม้ที่กำลังกินอยู่ทันที
"เจ้าหมายถึงอะไร"
"ก็แท่งที่อยู่หว่างขามันไงคะ"
"กวางที่มีเขาเป็นตัวผู้" วโรดมอธิบาย "ส่วนกวางที่ไร้เขาเป็นตัวเมีย"
"ตัวผู้ ตัวเมีย" อุสาทวนคำ "ข้าก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีเจ้าค่ะ"
"ถ้าเป็นสัตว์เรียกว่าตัวผู้ ถ้าเป็นคนจะเป็นผู้ชาย ส่วนตัวเมีย ถ้าเป็นคนจะเรียกผู้หญิง"
อุสาเลิกคิ้ว
"ตัวผู้หรือผู้ชายจะมีสิ่งที่เรียกว่าลึงค์อยู่ระหว่างขา ขณะที่ตัวเมียหรือผู้หญิงจะมีสิ่งที่เรียกว่าโยนีอยู่ระหว่างขา" ฤๅษีอธิบายต่อ
"แล้วข้าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายคะ ช่วยดูให้หน่อยค่ะ" อุสาถาม ก่อนจะทำท่าเปิดชุดให้ดู
ฤๅษีรีบห้ามไว้ "อย่า ข้าจะบอกให้ เจ้าเป็นผู้หญิง เจ้ามีโยนี"
อุสาเอียงคอ "เจ้าตายังไม่ทันดูเลยจะรู้ได้เยี่ยงไร"
"ข้ารู้แล้วกันน่ะ" วโรดมตัดบท "แล้วเจ้าอย่าให้ใครมาเห็นโยนีของเจ้าเด็ดขาดนะ เจ้าต้องให้แค่คนที่รักและไว้ใจเท่านั้นถึงจะเห็นได้"
"ข้าก็รักและไว้ใจเจ้าตานะเจ้าคะ"
ฤๅษีตบหน้าผากตัวเอง
"ไม่ใช่ความรักและไว้ใจแบบนั้น เป็นอีกแบบหนึ่ง"
"อย่างไรเล่าเจ้าคะ"
แม้ว่าจะเป็นฤๅษีที่รู้แจ้งไปทั่วสามโลก แต่การอธิบายความรักแบบคู่ผัวตัวเมียให้เด็กหญิงอายุเพียงแปดขวบฟังก็เป็นเรื่องยากอยู่มิใช่น้อย วโรดมจึงเบี่ยงเบนความสนใจของอุสาไปเรื่องอื่นแทน
"ทำไมอยู่ ๆ เจ้าถามเรื่องนี้ขึ้นมาล่ะ"
"ก็ข้าเห็นกวางตัวผู้กำลังเอาสิ่งที่เรียกว่า ล ล ล" อุสาพูดตะกุกตะกัก
"ลึงค์" ฤๅษีต่อให้อย่างเมตตา
"เจ้าค่ะ มันขึ้นคร่อมแล้วพยายามเอาลึงค์เสียบเข้าไป มันทำไปทำไมเหรอเจ้าคะ แล้วทำไมมันทำแต่กับตัวเมีย ไม่ทำกับตัวผู้ด้วยกัน"
"พวกมันกำลังผสมพันธุ์กันอยู่"
"ผสมพันธุ์คืออะไรเจ้าคะ"
"ผสมพันธุ์ก็คือการสร้างสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เพิ่มขึ้นมา เพราะกวางตัวผู้ทำแบบนั้น กวาวตัวเมียก็จะมีโอกาสตั้งท้อง ก็คือจะมีลูกกวางอยู่ในท้อง และไม่นานก็จะมีลูกกวางตัวเล็ก ๆ ออกมาให้เจ้าเล่นด้วยอย่างไรล่ะ"
"ต้องทำแบบนั้นถึงจะมีกวางเพิ่มหรือเจ้าคะ" อุสาถาม สีหน้าครุ่นคิด
"มันเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด" วโรดมว่า ความจริงแล้วสัตว์ในหิมพานต์มีสารพัดวิธีที่จะสืบเผ่าพันธุ์ของพวกมันต่อไปได้ หากแต่เป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายให้อุสาฟังได้
"แล้วมนุษย์ล่ะเจ้าคะ ใช้วิธีเดียวกันหรือ"
ฤๅษีพยักหน้า "ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น ผู้ชายจะเรียกว่าพ่อ ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่าแม่"
"พ่อแม่" อุสาทวนคำ "แล้วเหตุใดข้าจึงไม่มีพ่อแม่ล่ะเจ้าคะ แต่ไหนแต่ไรมาข้าก็เห็นแต่เจ้าตา ยังมีมนุษย์แบบเราอยู่หรือไม่เจ้าคะ"
"มนุษย์มีอยู่มาก หากแต่ยิ่งมากก็ยิ่งก่อความวุ่นวายไม่สิ้นสุด ข้าจึงมาอยู่ที่นี่" วโรดมว่า "ส่วนเรื่องของพ่อแม่นั้น เจ้าอย่าคิดมากไปเลย ข้าเป็นพ่อของเจ้าเอง" ฤๅษีตัดสินใจบอกความจริงที่เก็บงำมาตลอดหลายปีเพื่อกันไม่ให้อุสาหนีไปตามหาพ่อแม่
"แล้วแม่ของข้าล่ะเจ้าคะ" อุสาถามอย่างตื่นเต้น
"แม่ของเจ้าก็คือนางกวางทองที่ชอบมาเล่นกับเจ้าบ่อย ๆ อย่างไรล่ะ"
อุสาหลับตา พยายามจินตนาการภาพเจ้าตาของเธอผสมพันธุ์กับกวาง แค่คิดภาพ เธอก็รู้สึกได้ด้วยสัญชาตญาณว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ
อย่าว่าแต่ผู้มีญาณที่จะรับรู้ความรู้สึกในใจของเด็กน้อยในขณะนี้เลย แม้ว่าปุถุชนธรรมดาก็คงทราบว่าเด็กน้อยคิดอะไรอยู่
"ข้าไม่ได้ผสมพันธุ์กับแม่ของเจ้า" ฤาษีอธิบาย
"แล้วข้าเกิดมาได้อย่างไรเล่าเจ้าคะ"
"เจ้าเกิดมาได้เพราะวันหนึ่งข้าไปถ่ายปัสสาวะรดหญ้า และกวางตัวนั้นก็มากิน จนกำเนิดออกมาเป็นเจ้า การกำเนิดแบบนี้เรียกว่าอสุจิปานคัพภะ"
อุสาขมวดคิ้ว "แล้วมนุษย์คนอื่นกำเนิดแบบข้าได้หรือไม่เจ้าคะ"
"ถ้าพ่อของเขาบำเพ็ญตบะบารมี ก็สามารถกำเนิดแบบนี้ได้"
"เจ้าตาเจ้าคะ" อุสาเรียก
"มีอะไรหรือ"
"พวกเราจะอยู่กันในป่าตลอดชีวิตหรือเจ้าคะ ข้าอยากไปเห็นมนุษย์คนอื่นบ้าง พวกเขาเป็นอย่างไร เหมือนเราหรือไม่เจ้าคะ"
วโรดมถอนหายใจ เขารู้ว่าเขาไม่สามารถกักอุสาให้อยู่ที่นี่ตลอดไปได้ สักวันหนึ่งเธอก็ต้องไปเผชิญโลกกว้าง
"ตัวข้าคงไม่คิดจะออกจากป่านี้อีกแล้ว แต่สำหรับตัวเจ้า ถ้าอยากไป ข้าก็ไม่ได้หวงห้าม แต่เจ้ารอให้โต กว่านี้อีกหน่อยเถิด"
"ข้ายังไม่คิดจะไปหรอกเจ้าค่ะ ข้าอยากอยู่กับเจ้าตาไปตลอด"
"อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" วโรดมรำพึง เขาเองแม้จะบำเพ็ญบารมีจนได้ญาณ และตั้งใจมั่นอยู่ในพรหมวิหาร 4 ถือศีลเคร่งครัด ทำให้อายุยืนกว่ามนุษย์ที่หลงระเริงไปกับกิเลส หากแต่ทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีวันดับสูญ เขาเองก็คงไม่สามารถอยู่ดูแลอุสาได้ตลอดไป หากแต่เขาก็ทราบด้วยญาณว่าวันหนึ่งอุสาจะมีคนรับไปดูแล